ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง ยอดผืนป่าแห่งเมืองใต้

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 กันยายน 2551 07:55 .

ความโดดเด่นของป่าชุมชุนบ้านถ้ำผึ้งคือเป็นป่าที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน

ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง ต. ต้นยวง อ. พนม จ. สุราษฎร์ธานี คือ 1 ใน 4 ของป่าชุมชนตัวอย่างที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ “คนรักป่า ป่ารักชุมชน” จากป่าชุมชนทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่ง ซึ่งจัดทำโดย กรมป่าไม้และบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินกองทุนกว่า 200,000 บาท พร้อมป้ายเกียรติคุณ กับตัวแทนป่าชุมชนของแต่ละภาค

ผักพื้นเมืองนานาชนิดที่เก็บได้จากป่า

ป่าแห่งนี้ มีเรื่องราวและเส้นทางความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง

บุญทัน บุญชูดำ” ผู้ใหญ่บ้านถ้ำผึ้ง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ป่าชุมชนของหมู่บ้านมีประมาณ 1,636 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าย่านยาว ป่าเขาวงและป่ากระชุม โดยพื้นที่ป่าชุมชนส่วนใหญ่จะล้อมรอบด้วยพื้นที่ทำกินของราษฎร จึงมีแนวเขตที่ชัดเจน

ทั้งนี้ เดิมทีพื้นที่ป่าบ้านถ้ำผึ้งเป็นเขตสัมปทานทำไม้ จากนั้นชาวบ้านได้มีการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำตั้งแต่ปี พ.. 2523 จนกระทั่งมีการปิดสัมปทานเมื่อ พ.. 2532 ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าที่เหลืออยู่ให้มีสภาพที่สมบูรณ์และเป็นป่าชุมชนของหมู่บ้านโดยมีการกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับป่าชุมชนและมีการคัดเลือกคณะกรรมการป่าชุมชนในการดำเนินบริหารจัดการป่า

ความโดดเด่นของป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง มีความแตกต่างจากป่าชุมชนอื่นๆ ในภาคใต้ คือ มีพื้นที่ของป่าชุมชนตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ทำให้สะท้อนได้ถึงความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถหยุดยั้งการบุกรุก เพื่อใช้พื้นที่เชิงเกษตรอย่างได้ผล ในขณะที่ป่าชุมชนอื่นในภาคใต้มักประสบปัญหาการถูกบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเป็นสวนปาล์มและสวนยาง”

ผู้ใหญ่บุญทัน ได้อธิบายให้ฟังอีกว่า ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้งได้มีกระบวนการจัดการป่าอย่างเป็นระบบ โดยการแบ่งการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ป่าออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ป่าต้นน้ำ ป่าธนาคารอาหารชุมชนและป่าเพื่อการใช้สอย

สำหรับพื้นที่ส่วนแรก คือป่าต้นน้ำ มีพื้นที่กว่า 311 ไร่ เป็นพื้นที่ราบสลับกับเนินเขา สภาพเป็นป่าดิบชื้น เป็นป่าต้นน้ำที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ตะเคียนทอง ยาง จำปาป่า ฯลฯ เป็นป่าที่อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคลองบางคุย และยังเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำและสัตว์ป่าทุกชนิด

ส่วนที่สอง คือป่าธนาคารอาหารชุมชน มีเนื้อที่ 224 ไร่ เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม ชุมชนได้ใช้ป่าในส่วนนี้เป็นธนาคารอาหารชุมชน มีการปลูกพืชผัก ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร เช่น จำปา ผักเหลียง หน่อไม้ ทั้งนี้ยังมีการปลูกป่าเสริม และมีการปล่อยให้ป่ามีการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ มีการปรับปรุงทัศนียภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ บ่อน้ำดันทรายดูด ซึ่งเป็นบ่อน้ำผุดขนาดเล็กที่มีความแปลกตามธรรมชาติ

สุดท้ายพื้นที่ป่าเพื่อการใช้สอย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ลักษณะเป็นป่าดั้งเดิมที่อยู่กลางหมู่บ้าน มีถนนและพื้นที่ทำกินของราษฎรคั่นอยู่ตรงกลาง นอกจากเป็นป่าต้นน้ำแล้ว ชุมชนสามารถใช้พื้นที่ป่าบริเวณนี้ได้ตามความจำเป็น แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของชุมชน เพื่อไม่เป็นการกระทบหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อที่รวมประมาณ 1,100 ไร่

พื้นที่ทั้ง 3 ส่วนของป่าชุมชนจะห้ามประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในส่วนป่าต้นน้ำ เนื่องจากต้องการให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดน้ำที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำตาปี แต่ทั้งนี้ชาวบ้านก็สามารถที่จะมาใช้ประโยชน์ในการเก็บผักหรือว่าหน่อไม้ได้ในส่วนของป่าธนาคารอาหารชุมชน ” ผู้ใหญ่บ้านกล่าวด้วยสำเนียงติดภาษาถิ่น

สำหรับกิจกรรมที่ชาวถ้ำผึ้งร่วมกันทำเพื่อพิทักษ์ผืนป่าชุมชนนั้นคือ จะเน้นการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า โดยจัดชุดออกลาดตระเวนเดือนละ 2 ครั้ง การปลูกป่าเสริมตามพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในส่วนของป่าธนาคารอาหารชุมชน รวมทั้งเป็นสถานที่ดูงานของคณะต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นสถานที่ทัศนศึกษาของนักเรียน นักศึกษาทั่วไป

วันนี้เราสามารถสร้างกระแสให้ราษฎรในหมู่บ้านเห็นว่า การช่วยกันจัดการป่าชุมชน ช่วยกันดูแล จะทำให้ป่าของเราคงอยู่ จากความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าชุมชนนั้นสามารถเป็นตัวชี้วัดว่า เราสามารถสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนบ้านถ้ำผึ้งได้ เพราะมองว่าการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม่ใช่ทำได้เพียงแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ชาวบ้านก็สามารถที่จะอนุรักษ์ผืนป่าได้เช่นกัน” ผู้ใหญ่บ้านถ้ำผึ้งกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ

ปัจจุบันสภาพป่าดิบชื้นในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง ถือเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ด้วยทรัพยากรป่าไม้ที่มีความหลากหลาย และจากการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้านทำให้ทุกวันนี้สามารถคืนป่าที่สมบูรณ์ให้กับชุมชนได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงสามารถปลูกฝังจิตสำนึกรักป่าของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง

อย่างน้อยวันนี้ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เกิดขึ้นในใจใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชนเอง หรือหวังผลได้ไปถึงคนในประเทศ

สำหรับโครงการ คนรักป่า ป่ารักชุมชนที่ร่วมเฟ้นหาป่าชุมชนจากทั่วประเทศ ตอนนี้สามารถคัดเลือกป่าชุมชนดีเด่นจากทั่วประเทศ ให้เหลือ 4 โครงการ คือ ภาคเหนือที่ป่าชุมชนบ้านแม่หาร หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาคอีสานที่ป่าชุมชนเขาวง หมู่ที่ 4 ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ภาคกลางและตะวันออก คือ ป่าชุมชนพุยาง หมู่ที่ 12 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และสุดท้ายภาคใต้ที่ป่าชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง หมู่ที่ 5 ตำบลต้นยวง อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะมีการประกาศผลการตัดสินในวันที่ 12 กันยายน 2551 นี้

Leave a comment